SERP
บทความหนึ่ง AMPROSEO ได้เขียนให้ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ด้าน SEO กันไปแล้ว แต่อยากที่จะหยิบคำศัพท์หนึ่งที่คิดว่าสำคัญสำหรับคนทำ SEO มือใหม่ นั่นคือ คำว่า SERPs
ซึ่งในบทความนี้ น้องฮิปโป จะบอกให้ครบเลยว่า SERP คืออะไร สำคัญกับการทำ SEO ขนาดไหน แล้ว SERPs มีอยู่กี่ประเภท และยังมีตัวอย่างเบื้องต้นในการทำเว็บไซต์ให้ติด SERPs ของ Google ให้ทุกคนดูด้วยว่าจะเริ่มต้นทำได้ยังไง ถ้าพร้อมแล้วมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้เลยนะคะ
SERP คืออะไร
Search Engine Results Page หรือ SERP คือ ผลลัพธ์การค้นหาบนหน้า Search Engine อย่างของ Google เองเราคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีเพราะใช้ค้นหาเรื่องที่อยากรู้กันบ๊อยบ่อย
โดยผลลัพธ์ของการค้นหาที่เจอนั้นมีขึ้นมาให้ดูหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ของแอดโฆษณาที่คนทำการยิง Google ads ใน Keyword นั้นๆ หรือผลลัพธ์จากการทำ SEO ที่เป็น Organic Search ก็มี ไปจนถึงฟีเจอร์อื่นๆ ที่ Google ขนมาแสดงผลให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน (ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง น้องฮิปโป ขออุบอิบไว้บอกอีกทีในหัวข้อประเภทของ SERPs ที่เห็นกันบ่อยๆ นะ)
ทำไม SERPs ถึงสำคัญกับ Search Engine Optimization (SEO)
แล้วทำไม Search Engine Results Page หรือ SERP ถึงสำคัญกับการทำ Search Engine Optimization หรือ SEO นักล่ะ?
เหตุผลแรกคือ การติดอันดับบน SERP ในหน้าแรกของ Search Engine อย่าง Google เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มอัตราการมองเห็น (Impression), การคลิก (Click) และยังช่วยทำให้เว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาของผู้ใช้งานและ Google เพราะเว็บของคุณทำอันดับติดหน้า 1 ใน Keyword ที่เกี่ยวข้องได้แสดงว่า คุณทำ E-A-T Factor ได้ตามเกณฑ์ และยังปรับ Core Web Vitals ของเว็บไซต์ได้ตรงตามที่ Google ต้องการด้วย แสดงให้เห็นว่า เว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพมากพอจน Google จัดอันดับให้นั่นเอง
ส่วนเหตุผลต่อมาจะเป็นในแง่ของการใช้เพื่อตรวจสอบผลลัพธ์การค้นหาที่ปกติแล้ว SERP มักจะแสดงผลให้กับผู้ใช้งานมองเห็นได้แตกต่างกันไม่มากก็น้อย เนื่องจาก Google มักปรับแต่งประสบการณ์สำหรับผู้ใช้โดยนำเสนอผลลัพธ์ตามปัจจัยที่หลากหลายนอกเหนือจากข้อความค้นหา เช่น ตำแหน่งทางของผู้ใช้ ประวัติการท่องเว็บ การตั้งค่าโซเชียล ฯลฯ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ว่าคุณจะทำการตลาดอะไรเกี่ยวกับ Google จึงควรเช็ก SERP ก่อนว่าแสดงผลเป็นแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น
คุณค้นหาคำว่า “buy eyeglasses online” คุณจะพบว่า ผลการค้นหาที่ขึ้นมาจะเป็น Google Ads ก่อนใน 4 อันดับแรก หากคุณทำ SEO ใน Keyword เหล่านี้ เท่ากับคุณจะตกไปอยู่ในผลการค้นหาอันดับ 5 แน่นอนว่า ทำให้ยอดคลิก ยอดการมองเห็นลดลง เพราะปกติแล้วคนจะให้ความสนใจใน 1-3 อันดับแรก และประมาณ 75.1% จะคลิกเลือกคลิกเว็บไซต์ใน 1-3 อันดับแรก
แล้วถ้าลองค้นหาคำว่า ‘ไข่ยางมะตูม’ จะเห็นว่าผลลัพธ์การค้นหาในอันดับ 1 จะไม่ได้มีหน้าตาเป็นผลลัพธ์แบบปกติ แต่จะมีข้อความแนว Bullet ขึ้นมาด้วย นั่นแสดงว่า ถ้าทำ Keyword แบบนี้เนื้อหาก็ควรที่จะสอดคล้องกับสิ่งที่ Google มีโอกาสที่จะจับขึ้นมาแสดงผลบน SERP ด้วย (เดี๋ยว น้องฮิปโป จะบอกให้นะว่า ผลลัพธ์แปลกๆ แบบที่เห็นคืออะไร และปกติเขาทำยังไงกันบ้าง ลองดูในหัวข้อต่อไปเลยนะคะ
ประเภทของ SERPs บน Google
เข้าใจถึงนิยามและความสำคัญของการดู SERPs หรือผลลัพธ์การค้นหาบน Google ไปแล้ว คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่า SERP ที่เราเห็นกันบ่อยๆ บน Google เนี่ยมีอยู่ด้วยกันกี่แบบ ซึ่งวันนี้ น้องฮิปโป ก็รวบรวมมาให้แบบจุกๆ ถึง 10 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
Organic Search Results
Organic Search Results คือ SERP ที่เห็นได้บ่อยที่สุดบนหน้า Google โดยจะขึ้นเรียงเป็นอันดับ เริ่มจากอันดับ 1 ลดหลั่นไปเรื่อยๆ ซึ่งการจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้ก็ต้องทำการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า SEO นั่นเอง
ส่วนหน้าตาของ Organic Search Results จะเห็นเป็นลิสต์รายการของเว็บไซต์แบบรูปตัวอย่างด้านบน คือ เห็น URL ของเว็บไซต์ (ที่ควรทำให้เป็น SEO URL Friendly), เห็น Title Tag คือ ตัวหนังสือสีน้ำเงินที่สามารถคลิกเข้าเว็บไซต์ได้ และมี Meta Descriptions เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับหน้าเว็บไซต์นั้นๆ ที่เป็นตัวหนังสือสีเทาๆ ด้านล่าง
Paid Search Results
Paid Search Results คือ SERP รูปแบบหนึ่งที่จะปรากฏขึ้นใน Keyword ที่มีคนทำการยิง Search Ads อย่างรูปภาพ ( น้องฮิปโป ตั้ง Google เป็นภาษาไทยก็จะเห็นว่า Paid Search Results จะมีคำว่า ‘ได้รับการสนับสนุน’ ปรากฏขึ้นกำกับอยู่ด้านบนเว็บไซต์ที่เป็น Paid Search Results ส่วนใครใช้ภาษาอังกฤษก็จะเห็นเป็นคำว่า ‘Ads’ ตามปกติ) ซึ่งตำแหน่งของ Paid Search Results ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านบนของผลการค้นหา และแน่นอนว่าก็ต้องแย่งกันขึ้นหน้า 1 เป็นหลัก เพื่อให้ได้ Traffic เป็นยอดคลิกเยอะๆ
Local Pack
Local Pack คือ SERP ที่จะแสดงพิกัดที่ตั้งจากพื้นที่ของ Google Map โดยจะขึ้นมาใน Keyword ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ เช่น ค้นหาปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ ใครที่ได้ขึ้นลิสต์แรกๆ ก็จะได้ยอดคลิกเข้าไปดู Google My Business ที่ทำไว้เยอะๆ และเพิ่มโอกาสที่คนจะกดแผนที่เพื่อดูว่าร้านตั้งอยู่ตรงไหน หรือกดดูเส้นทางเพื่อมาที่ร้านได้มากขึ้น ใครที่ทำร้านค้าต้องห้ามพลาดที่จะทำให้ตัวเองติด Search Result ในรูปแบบนี้เลยนะจะบอกให้
Google Image Results
Google Image Results คือ จะเป็นผลลัพธ์การค้นหาของรูปภาพ โดยจะปรากฏอยู่ด้านบนสุดของคำค้นหา ซึ่งคำส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอะไรที่มีคนใช้ค้นหาสำหรับดูรูปภาพประกอบเป็นหลัก อย่าง น้องฮิปโป ลองค้นหาคำว่า ‘ไข่ยางมะตูม’ ส่วนแรกที่ขึ้นมาก็จะเป็น Google Image Results ที่คนอาจจะใช้ภาพในการค้นหาเกี่ยวกับไข่ที่เราต้องการ
Video Results
Video Results คือ SERP ที่โชว์วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับ Keyword ที่คนทำการค้นหา โดย 88% ของผลลัพธ์ Google จะดึงมาจาก YouTube ซึ่งผลลัพธ์การค้นหาจะอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของผลการค้นหาก็ได้
Featured Snippets
Featured Snippets คือ SERP ที่ตัวอย่างข้อมูลแนะนำแบบสั้นๆ ของเนื้อหาที่ดึงมาจากหน้าเว็บหรือวิดีโอ โดยจะมีแสดงผลในหลายรูปแบบด้วยกัน อย่างรูปภาพตัวอย่างก็จะเป็น Featured Snippets ที่เรียกว่า หัวข้อ แบบ Bullet List) และมักจะถูกดึงขึ้นมาแสดงผลในอันดับ 0
(ลองอ่านเนื้อหาและวิธีการทำ Featured Snippets ในรูปแบบต่างๆ ได้เลยที่ Featured Snippets คืออะไร สรุปวิธีการทำอันดับ 0 บนหน้า Google)
Knowledge Card หรือ Answer Box
Knowledge Card หรือ Answer Box คือ SERP รูปแบบหนึ่งที่จะให้คำตอบสำหรับ Keyword ที่มีการถามแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ถามหาวันเกิดคนดัง, ถามหาอายุคนดัง, ถามหาวันสำคัญ เช่น สงกรานต์วันที่เท่าไหร่ ฯลฯ ก็จะเจอกับคำตอบแบบ Knowledge Card หรือ Answer Box ขึ้นมา ซึ่งการแสดงผลลัพธ์แบบนี้จะต่างจาก Featured Snippets ตรงที่ ไม่ได้มีการอ้างอิงหรือโชว์ว่า คำตอบมาจากเว็บไซต์ไหน แต่จะเป็นข้อมูลสาธารณะทั่วไปที่ Google หยิบขึ้นมาให้ดูเลย
Knowledge Graph และ Knowledge Panel
Knowledge Graph และ Knowledge Panel คือ มักเป็นผลลัพธ์ที่จะปรากฏอยู่บริเวณด้านขวาของ Organic Search Result ในหน้า Desktop ส่วนในมือถือจะเห็นว่าอยู่ด้านบนสุดของ SERP โดยมักจะแสดงผลในคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับชื่อแบรนด์ บริษัท สถานที่ ไปจนถึงหน้าโซเชียลมีเดีย ซึ่ง Google จะดึงข้อมูลมาจากเว็บไซต์ข้อมูลอย่าง Wikipedia และ Wikidata
People Also Ask
People Also Ask คือ ผลลัพธ์การค้นหาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดที่กำลังค้นหาอยู่ โดยเป็นฟีเจอร์ของ Google ที่ช่วยบอกต่อว่า นอกจากคำที่คุณกำลังใช้ค้นหาอยู่นี้ คนอื่นยังค้นหาเกี่ยวกับอะไรต่อบ้าง แน่นอนว่า เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้งาน รวมถึงคนทำ SEO หรือทำคอนเทนต์ที่คิดหัวข้อย่อยไม่ออกได้เป็นอย่างดี
Sitelink
Sitelink คือ ผลการค้นหาที่ Google คัดเลือกหน้าที่มีคนเข้าชมเยอะของเว็บไซต์ที่ติดอันดับต้นๆ ในบาง Keyword ขึ้นมาแสดงผลเป็นลิสต์สารบัญข้างล่าง Title และ Description ของเว็บไซต์ (ส่วนใหญ่จะเจอผลการค้นหาแบบนี้เวลาเรา Search คีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อ Brand อย่างตัวอย่าง น้องฮิปโป ก็ค้นหาคำว่า KFC หน้าแรกที่ขึ้นมาก็เป็นเว็บไซต์ KFC และมีผลลัพธ์ Sitelink ของ KFC ขึ้นมาให้ด้านล่างด้วย)
ตัวอย่างวิธีทำเว็บให้ติด SERPs
เห็นว่ามี SERP หลากหลายประเภทขนาดนี้ แล้วจะทำยังไงให้ติดในหน้าผลลัพธ์การค้นหาเหล่านี้ได้บ้าง ลองมาดูตัวอย่างที่ น้องฮิปโป นำมาบอกกันเลยดีกว่า
วิธีทำให้ติด Organic Search Results
แน่นอนว่าก็ต้องเป็นการทำ SEO โดยหลักการทำ SEO จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
- Onsite หรือ On-Page SEO : จะเป็นวิธีการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้เป็นไปตามที่ Google กำหนด โดยจะมีองค์ประกอบหลายส่วนด้วยกันที่จะต้องทำให้ On-Page มีประสิทธิภาพมากพอ เช่น
- การเขียน Title และ Description ตามหลักการทำ SEO
- การทำ URL Friendly
- การทำ SEO Writing
- การทำ Alt Text
- Off-Site หรือ Off-Page SEO : จะเป็นการปรับแต่งสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอกเว็บไซต์ให้ส่งพลังกลับมายังเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งจะรู้จักกันดีในวิธีการทำ Backlink คือ การทำลิงก์จากเว็บอื่นๆ ที่ชี้กลับมาที่เว็บไซต์ของคุณ โดยจะต้องได้มาด้วยวิธีการขาวสะอาด เน้นย้ำว่า ต้องทำ SEO สายขาวนะ เพราะการทำสแปมลิงก์เยอะๆ ที่เป็นเทคนิคการทำ SEO สายเทาอาจทำให้เว็บไซต์โดนแบนจาก Google ได้ง่ายมากๆ
- Technical SEO : จะเป็นการปรับปรุงในด้านที่เป็นเทคนิคอื่นๆ เช่น
- การทำ Page speed optimisation คือ การทำให้เว็บไซต์โหลดได้ไวมากขึ้น
- การทำให้เว็บไซต์เป็น Mobile-friendly
- การทำ Sitemap ส่ง เพื่อให้ Google Bot เข้ามารวบรวมข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจาก 3 เรื่องสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีเกณฑ์อีกหนึ่งเกณฑ์ที่น่าสนใจและต้องทำเลยก็คือ การทำตาม E-E-A-T Factor เกณฑ์ที่ google ใช้วัดคุณภาพของเว็บไซต์ โดยจะแบ่งเป็น…
- Experience หรือประสบการณ์
- Expertise หรือความเชี่ยวชาญ
- Authoritativeness หรือการมีอำนาจอิทธิพล
- Trustworthiness หรือความน่าเชื่อถือ
(ถ้าอยากรู้ว่าจะทำเว็บไซต์ให้ตรงกับเกณฑ์ E-E-A-T Factor ได้ยังไง อ่านต่อที่บทความ E-A-T Factor คืออะไร ทำไมเปลี่ยนเป็น E-E-A-T สำคัญยังไงกับ SEO ได้เลยนะคะ~)
วิธีทำให้ติด Paid Search Results
สำหรับด้านการติด Paid Search Results ก็ต้องพึ่งพาการยิง Google Ads โดยต้องเลือกเป็นการยิง Search Ads เป็นหลัก ซึ่งการยิงแอดบน Google จะต่างจากการทำ SEO ที่เป็นการทำการตลาดบน Google แบบไม่เสียเงินโฆษณา แต่การทำเว็บไซต์ให้ติด Paid Search Results จะต้องทำการจ่ายค่าโฆษณาเป็น pay-per-click เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่โดดเด่นในหน้า SERP ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการยิง Google Ads นั้นสามารถเข้าไปใช้งานได้เลยที่ https://ads.google.com/home/
สำหรับใครที่เคยศึกษาเรื่องการทำแอดบน Google มาบ้างจะเห็นว่า Ads ของ Google นั้นมีหลากหลายแบบ ทั้งแบบ GDN (Google Display Ads), Video Ads หรือการทำ Search Ads ซึ่งอย่างหลังเท่านั้นที่จะทำให้เว็บไซต์ปรากฏอยู่ในผลการค้นหา (ส่วนหน้าตาตอนตั้งค่าแอดนั้นจะเป็นตามรูปด้านล่างนี้เลย คือ คุณสามารถตั้ง Titile, Description, Url ไปจนถึง Sitelink ของเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง)
วิธีทำให้ติด Sitelink
อย่างที่ น้องฮิปโป อธิบายไปแล้วว่า Sitelink จะเป็นสิ่งที่ Google หยิบขึ้นมาให้โดยที่เราควบคุมเองไม่ได้ (ยกเว้นว่าคุณใช้วิธีการยิงแอด หากเป็นวิธีนี้คุณตั้งค่า Sitelink เองได้โดยไม่ต้องรอ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะพยายามทำเว็บไซต์ให้เป็นที่ถูกใจ Google จนทำให้มีโอกาสติด Sitelink ไม่ได้ โดยทำตาม Checklist ด้านล่างนี้ได้เลย
- ทำให้เว็บไซต์ติดอันดับ 1 ในคีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อแบรนด์
- วาง Sitemap และ Site Structure อย่างมีคุณภาพ
- ทำ Internal Link เชื่อมโยงหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์เข้าด้วยกัน
- อย่าตั้ง Titile และ Description ในแต่ละหน้าบนเว็บไซต์ซ้ำกัน
สรุปแล้ว SERP คืออะไร สำคัญกับการทำธุรกิจอย่างไร
สรุปแล้ว SERP คือ ผลลัพธ์การค้นหาบน Search Engine และสิ่งนี้เองคือ ช่องทางทำ Digital Marketing รูปแบบหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเจอธุรกิจของคุณได้ง่ายมากขึ้น แต่การจะทำให้เว็บไซต์ติดหน้า SERP นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณจะต้องทำความเข้าใจวิธีการทำงานของ Search Engine รวมถึงเทคนิคการทำให้ติดหน้า SERP ด้วยวิธีต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเวลา ต้องการผลลัพธ์ติดหน้า SERP ในระยะยาว วิธีการทำ SEO ก็จะเหมาะสำหรับคุณ แต่ถ้าคุณต้องการติดหน้า SERP ใน Keyword ที่ต้องการทันทีก็สามารถใช้วิธีการจ่ายเงินและทำแอดโฆษณาเพิ่มเติมได้
ก็ลองเลือกดูนะว่าจะใช้วิธีไหนในการทำให้เว็บไซต์ขึ้น SERPs ในคีย์เวิร์ดที่ต้องการได้บ้าง ก็หวังว่า บทความนี้ของ น้องฮิปโป จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนไม่มากก็น้อยนะ ลากันเท่านี้นะ ไว้เจอกันในบทความหน้านะคะ