Sitemaps
Sitemap เป็นคำที่คนทำเว็บคุ้นเคยกันดี ถึงจะไม่คุ้นเคยแต่ AMPROSEO เชื่อว่าหลายคนก็ต้องเคยได้ยินกันมาบ้างล่ะ
เพราะเจ้า Sitemap ตัวนี้จะมีอยู่เกือบทุกเว็บไซต์ น้องฮิปโป เลยอยากมาแนะนำกันอย่างชัดเจนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับสิ่งนี้กัน เพราะนอกจากจะมีเพื่อบอกเส้นทางในเว็บไซต์ตามคำว่าแผนที่ที่ติดอยู่ด้านหลังแล้ว มันยังสามารถช่วยเรื่องการไต่อันดับค้นหาหรือ SEO ได้ด้วย แต่ว่าการให้ประโยชน์ถึงขั้นนั้นมันยังต้องมีสิ่งที่ต้องรู้กันอยู่นะ
ไม่ต้องกังวลไป สิ่งที่คุณอยากรู้ น้องฮิปโป ได้รวบรวมมาแล้ว เรามาดูเรื่องราวเกี่ยวกับ Sitemap กันว่าคืออะไร แล้วมีอะไรที่ต้องรู้กันบ้างนะคะ
Sitemap คืออะไร
Sitemap คือแผนที่เว็บไซต์ หากอธิบายง่ายๆ เหมือนกับเวลาที่เราไปสถานที่ที่กว้างใหญ่ เรามองเห็นทางได้ไม่หมดว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง อยากเข้าไปดูสิ่งนี้ต้องไปที่ไหน เราก็มักจะตามหาแผนที่ เช่นเดียวกัน Sitemap เองก็เป็นเหมือนแผนที่ที่บอกว่าในเว็บนี้มีหน้าอะไรอยู่บ้าง
เหมือนให้เราได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของเว็บไซต์ว่าสามารถเข้าไปดูอะไรทางไหนได้บ้าง ช่วยให้ User ไม่หลงทางในเว็บ นอกจาก User แล้วยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ต้องการสำรวจเว็บด้วย นั่นก็คือ บอทจากเสิร์ชเอนจิ้น ทำให้การทำ Sitemap ส่งผลต่อ SEO ด้วย
ประโยชน์ของการวางแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap)
แน่นอนว่า Sitemap นี้ยังประโยชน์ด้านอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน เรามาดูกันให้ชัดๆ ได้เลยเมี้ยว~
ช่วยบอก User ว่าในเว็บไซต์มีอะไรบ้าง
เวลาที่ User ต้องการตามหาอะไรบางอย่างหรืออ่านคอนเทนต์ในหมวดหมู่บางหมวดหมู่แต่กลับหาลิงก์ทางเข้าที่เชื่อมต่อไปยังหน้านั้นไม่เจอ ก็สามารถตามหา Sitemap ก่อนก็สามารถพบกับทางเข้านั้นได้ อย่างที่ น้องฮิปโป ได้บอกไปว่าการมี Sitemap หรือแผนผังเว็บไซต์ก็เหมือนมีแผนที่ที่บอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนนั่นเอง
ช่วยให้บอทของ Search Engine เก็บข้อมูลและจัดเก็บดัชนีได้เร็วขึ้น
พอมี Sitemap ที่บอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนอย่างชัดเจนแล้ว มันก็ไม่ได้ช่วยแค่ User อีกต่อไป แต่ยังช่วยให้บอทจาก Search Engine อย่างเช่น Google, Yahoo หรืออื่นๆ เข้ามาเก็บข้อมูลภายในเว็บพร้อมกับจัดเก็บดัชนีหรือ Indexing ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
เพราะการเก็บข้อมูลของบอทจากเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ ไม่ได้ใช้เวลาเร็วอย่างที่เราเคยคิดกัน บางครั้งพวกมันก็ใช้เวลาเป็นเดือนเพื่อเก็บข้อมูล แต่มันจะเร็วขึ้นมากหากมีแผนผังเว็บไซต์คอยบอกเอาไว้อย่างชัดเจนนั่นเอง
ช่วยให้บอทของเสิร์ชเอนจิ้นเก็บข้อมูลได้ครบทุกหน้า
บอทของเสิร์ชเอนจิ้นไม่ได้ฉลาดในการเข้าตรอกออกซอยสำรวจเว็บไซต์อะไรขนาดที่เราคิดเลย บางครั้งพวกมันก็อาจจะตกหล่นช่องทางที่หาทางเข้าได้ยากหรือไม่มีลิงก์ทางเข้าบอก แต่พอเรามี Sitemap เข้ามาบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง บอทพวกนี้ก็ไม่ต้องไปคลำหาทางเอง แต่สามารถเลี้ยวเข้าไปได้ทันที ที่นี่ก็ไม่ใช่แค่เก็บรวบรวมข้อมูลได้เร็วขึ้นแต่ยังครบทุกหน้าอีกด้วย
ช่วยให้บอทของ Search Engine แยกแยะหน้าเพจที่ซ้ำกัน
เรื่องหน้าเพจที่คล้ายกันซ้ำกันหรือที่เรามักเรียกกันว่า Duplicate Content นั้นส่วนใหญ่จะพบได้มากในเว็บ E-commerce ซึ่งมักมีหน้าค้นหาที่แสดงผลออกมาคล้ายกัน ทำให้บอทของเสิร์ชเอนจิ้นเข้าใจผิดคิดว่าเราทำหน้าซ้ำจึงจัดคะแนนเว็บให้เราต่ำลงได้ แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ได้ด้วยการมีแผนผังเว็บไซต์หรือ Sitemap เพื่อบอกบอททั้งหลายว่า หน้าไหนเป็นหน้าหลัก แล้วหน้าไหนที่ไม่ใช่
ประเภทของ Sitemap
สำหรับคนทำเว็บที่ต้องการสร้าง Sitemap จะต้องรู้ว่าเราสร้างเพื่ออะไร เพราะตัว Sitemap เองยังแบ่งได้อีก 2 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานซึ่งก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป น้องฮิปโป จะพาไปดู
HTML Sitemap
HTML Sitemap เรียกว่าเป็น Sitemap ที่สร้างขึ้นเพื่อ User ส่วนใหญ่จะแปะอยู่ด้านล่างของเว็บไซต์คิดว่าหลายคนคงเห็นกันมาแล้ว แต่บางเว็บไซต์ก็สร้างในหน้าแยกออกไปเลย เหตุผลที่บอกว่าเป็นการสร้างให้ User มากกว่าบอทก็เพราะว่า HTML Sitemap นี่จะเหมือนกับสารบัญหนังสือที่บอกเป็นแผนผังว่ามีหน้าอะไรบ้าง แต่กลับไม่ค่อยช่วยเหลือบอท ทำให้ส่งผลต่อ SEO ไม่มากนัก
XML Sitemap
นี่คือ Sitemap ที่สร้างขึ้นเพื่อบอทของเสิร์ชเอนจิ้น ใครอยากให้อันดับหน้าแรกหรือ SEO ดีขึ้นควรเลือก Sitemap ประเภทนี้ เพราะมันเป็นการสร้างเพื่อให้บอทเก็บข้อมูลได้สะดวกที่สุดว่ารายละเอียดของแต่ละหน้า การอัปเดตเนื้อหา หรือ URL เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่ง Sitemap ประเภทนี้จะมีความซับซ้อนในการสร้างเพราะเป็นการเน้นเก็บที่ URL เป็นหลักถึงได้ดูยากเกินไปสำหรับ User ที่จะมาอ่าน Sitemap แบบนี้
XML Sitemap ยังแบ่งย่อยได้ 4 ประเภทด้วยกันดังนี้
- Image Sitemap เป็น Sitemap ของรูปภาพช่วยให้บอทของเสิร์ชเอนจิ้นเข้ามาเก็บข้อมูลรูปภาพเพื่อนำไปแสดงเมื่อมีคนค้นหา ช่วยให้อันดับ SEO เราดีขึ้นได้
- Video Sitemap เป็น Sitemap ของวิดีโอ เช่นเดียวกับรูปภาพเลยคือบอทเก็บข้อมูลด้านนี้เอาไว้ เมื่อมีคนค้นหา หน้าเว็บของเราก็จะถูกแสดงขึ้นไปช่วยดันอันดับ SEO ได้
- News Sitemap เป็น Sitemap ของข่าวหรือบทความ เพราะตัว Google หรือบางเสิร์ชเอนจิ้นที่ทำหน้ารวบรวมข่าวสารเอาไว้ อาจนำเสนอข่าวหรือบทความที่น่าสนใจไปขึ้นที่หน้าฟีดข่าว
- Mobile Sitemap เป็น Sitemap สำหรับโทรศัพท์แบบเดิม ปัจจุบันไม่นิยมกันแล้วเพราะ Smartphone ได้เข้ามาแทนที่เรียบร้อยแล้ว
เว็บไซต์แบบไหนที่ควรมี Sitemap
แม้ว่าการมี Sitemap จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ใช่ว่าจะต้องทำกับทุกเว็บไซต์เสมอไป เพราะบางเว็บไซต์ที่ช่องทางไม่ได้ซับซ้อนมากนักรวมถึงมีหน้าเพจไม่มาก ก็อาจจะยังไม่ต้องทำก็ได้ พอพูดกันแบบนี้ น้องฮิปโป ก็รู้ว่าทุกคนต้องสงสัยแน่ๆ ว่าแล้วเว็บแบบไหนที่ควรจะมี Sitemap
เว็บที่มีขนาดใหญ่มากหรือมีมากกว่า 500 หน้า
เว็บไซต์ขนาดใหญ่มากๆ นี่นับเป็นงานหนักสำหรับบอทของเสิร์ชเอนจิ้นที่จะต้องเข้ามาเก็บข้อมูล เพราะอย่างที่ได้บอกไปว่าพวกมันจะต้องเข้ามาสำรวจกันเป็นสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน หรือทั้งที่ใช้เวลานานขนาดนั้นแต่ก็อาจจะข้ามไปบางหน้าเพราะไม่รู้จะเข้าไปเก็บข้อมูลทางไหน การมี Sitemap ก็จะช่วยบอททำงานได้ดีขึ้น เก็บข้อมูลได้ครบถ้วนทำให้การทำ SEO เห็นผลมากขึ้นได้
เว็บที่มีหน้าเว็บแบบไร้ทางเข้าอยู่เยอะ
ไม่ใช่ว่าคนทำเว็บไซต์จะตั้งใจสร้างหน้าเว็บแต่ลืมแปะลิงก์ แต่เป็นเพราะความซับซ้อนของเว็บไซต์ทำให้หน้าแบบนี้เกิดขึ้นมาได้ แล้วอะไรที่มาช่วยลดเส้นทางที่ซับซ้อนพวกนี้ได้กันล่ะ ก็ต้อง Sitemap น่ะสิเมี้ยว พอมีป้ายบอกทางเข้าจะบอทหรือ User ก็ไม่เจอปัญหาอีกแล้ว
เว็บที่ใหม่มากและยังมีการทำ Backlinks น้อย
การทำ Sitemap ให้กับเว็บไซต์เป็นเหมือนการชี้ช่องทางให้บอทของเสิร์ชเอนจิ้นหรือแม่แต่ User เองว่าในเว็บไซต์มีอะไรบ้าง เพราะเว็บที่สร้างใหม่คนรู้จักน้อย การพูดถึงหรือเชื่อมโยงมาหาด้วย Backlink ย่อมน้อยตามไปด้วยอยู่แล้ว หากมีการมองเห็นเข้ามาสักครั้งก็ควรเก็บเกี่ยวให้เต็มที่ด้วยการเปิดช่องทางจาก Sitemap นั่นเอง
เว็บที่มีสื่อหรือมีเดียอยู่มากแล้วคุณอยากให้คนเข้ามาเจอ
ใครทำเว็บไซต์ก็ต้องการให้คนเข้ามากันอยู่แล้ว การสร้าง Sitemap จะช่วยให้บอทจากเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google เข้ามาเจอสื่อพวกนี้ได้ง่ายมากขึ้น
ควรเริ่มต้นทำ Sitemap ตอนไหน?
แม้จะบอกว่าการทำ Sitemap ไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกเว็บไซต์ แต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนอันดับแรกเลย เพราะการวาง Sitemap ทำให้เว็บไซต์เป็นระเบียบได้มากขึ้น User ที่เข้ามาสามารถตามหาหรือท่องเที่ยวอยู่ในเว็บไซต์ของคุณได้ไม่อยาก เช่นเดียวกับเหล่าบอทจากเสิร์ชเอนจิ้นที่จะเข้ามาเก็บข้อมูล การมี Sitemap ก็จะเหมือนเมืองที่มีผังเมือง ทุกเส้นทางที่เชื่อมถึงกันก็ทำให้เดินทางได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อเว็บไซต์โตมากขึ้น หน้าเพจมีมากจนใกล้จะถึง 500 หน้าแล้วอาจเริ่มสร้าง Sitemap ขึ้นมาแปะไว้ที่ด้านล่างเว็บไซต์ก็ได้ หรือหากไม่อยากมาเก็บเอาทีหลังแนะนำว่าให้ทำควบคู่กันไปจะง่ายมากขึ้นเยอะ ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกันทีหลังนะคะ
วิธีการสร้าง Sitemap
มาถึงวิธีการสร้าง Sitemap นี้ต้องบอกว่าสำหรับ HTML Sitemap นั้นสร้างไม่ยากเท่าใดนักเพราะสามารถรวบรวมลิงก์หัวข้อหลักแล้วแสดงไว้ที่ด้านล่างหรือหน้าเว็บใหม่ได้เลย แต่กับ XML Sitemap แล้วจะมีความซับซ้อนมากกว่า ซึ่งเราสามารถใช้เครื่องมือช่วยเหลือได้ 2 แบบด้วยกัน
XML-Sitemap.com
XML-Sitemap.com ถือเป็นหนึ่งตัวช่วยที่สะดวกมากทีเดียว น้องฮิปโป จะบอกให้เลยว่ามันเป็นตัวช่วยในการทำ Sitemap แบบง่ายสุดๆ และยังมีประสิทธิภาพมากๆ มือใหม่ก็ทำได้ เพราะแค่เพียงเข้าเว็บไซต์ XML-Sitemap.com จากนั้นใส่ URL ของเว็บไซต์เราลงไปแล้วกด START ให้ตัวช่วยนี้สำรวจเว็บไซต์ของเรา เก็บข้อมูลออกมาจัดทำ Sitemap ไปเรื่อยๆ เราก็จะได้ไฟล์ xml ออกมาใช้ได้เลย
ปลั๊กอินเสริม
แน่นอนว่าสำหรับใครที่สะดวกกับปลั๊กอินเสริมอย่างคนที่ใช้งาน WordPress ก็สามารถใช้ตัวช่วยปลั๊กอินของ WordPress เองหรือจะใช้ตัวปลั๊กอิน Yoast SEO ที่จะอัปเดต Sitemap ให้อัตโนมัติก็ได้เช่นกัน
สรุป
เรื่องประโยชน์ของ Sitemap นั้นบอกเลยว่าสมควรทำเป็นอย่างมากนะ อย่างที่ น้องฮิปโป ได้บอกว่ามันช่วยบอกทางให้ทั้ง User และบอทของเสิร์ชเอนจิ้นได้เข้ามาสำรวจเว็บไซต์ได้ทั่วถึงมากขึ้น
ถึงแม้ว่าประเภทของ Sitemap จะให้ประโยชน์ไม่เหมือนกันก็ตาม แต่เราสามารถทำทั้งสองแบบเพื่อให้ทางหนึ่งช่วยเหลือ User ได้ค้นหาอะไรง่ายขึ้น อีกทางหนึ่งก็ช่วยบอทให้เก็บข้อมูลได้ครบถ้วนมากขึ้นช่วยดันอันดับ SEO ให้สูงยิ่งขึ้นไปได้ด้วย มีแต่ข้อดีเลยนะ ถ้าเล่าขนาดนี้แล้วไม่ทำก็ไม่รู้จะพูดอะไรแล้วว