UTM
หลายคนที่ทำการตลาดออนไลน์คงเคยได้ยินเกี่ยวกับ UTM หรือ UTM Parameter เครื่องมือวัดผลตัวหนึ่งที่เหมาะมากๆ สำหรับคนทำเว็บไซต์ที่ต้องการพัฒนาให้เว็บไซต์มีคนเข้ามามากขึ้น เพราะเจ้าสิ่งนี้จะช่วยในการเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เนื่องจาก UTM นั้นถือเป็นหนึ่งใน Tools ที่จะอยู่ในประเภทของการใช้เพื่อวัดผล ซึ่งช่วยให้คนทำเว็บไซต์มีแนวทางในการพัฒนาเว็บ โดยเฉพาะการ Tracking และการวัดผลในด้านแหล่งที่มาของ Traffic ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายช่องทางด้วยกัน
มาทำความรู้จักกับ UTM เครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดผล Traffic ที่ AMPROSEO นำเอารายละเอียดมาฝากกันในวันนี้ ว่า UTM คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรและมีหลักการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่านะ ฮิปปป
URL Parameter หรือ UTM คืออะไร
UTM คือ เครื่องมือที่จะทำให้เรารู้ว่ายอด Traffic ที่เข้ามาในเว็บไซต์มาจากที่ไหน จากช่องทางอะไร หรือมาจากการจัดแคมเปญไหน ซึ่งคำว่า UTM นี้ ย่อมาจาก Urchin Tracking Modules บางคนก็เรียกว่า UTM Link, UTM Tracking หรือ UTM Tag
หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ UTM เป็นการใส่ Parameter ต่อท้าย URL ของหน้าเพจที่เราต้องการติดตามเพื่อ Tracking หรือติดตามดูเส้นทางที่มาว่ามาจากช่องทางไหน มาจากการนำเสนอรูปแบบใด มาจากหัวข้ออะไร มีเงื่อนไขในการมองเห็นเพิ่มเติมหรือไม่ แล้วเป็นการนำเสนออย่างไร
ตัวอย่างเช่น
URL: https://www.yoursite.com/shop/product
URL ที่มี UTM: https://www.yoursite.com/shop/product?utm_source=instagram&utm_medium=social-ad&utm_campaign=igproductlaunch0323
หลักการทำงานของ UTM
AMPROSEO อยากให้ลองนึกถึงการติดตามพัสดุสิ่งของว่าอยู่ที่ไหนเราจะรู้ว่าส่งด้วยขนส่งอะไร ส่งเมื่อไหร่ ยังไงอะไรแบบนี้ เช่นเดียวกับหลักการทำงานของ UTM แต่การทำ UTM จะเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายของเราเริ่มคลิก URL ที่มี UTM ติดอยู่ ซึ่งทางฝั่งกลุ่มเป้าหมายของเราก็จะเข้าลิงก์ไปตามปกติ แต่ทางฝั่งของ Google Analytics หรือเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ผล Traffic ของเว็บนั้นจะเริ่มเก็บข้อมูลว่ามี Traffic มาจากทางไหน เข้ามามากน้อยอย่างไร มาจากการคลิกส่วนไหนและแคมเปญอะไร
ประโยชน์ของการทำ UTM
เมื่อการวัดผลของ UTM เป็นการติดตามดูเส้นทางของ Traffic เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักการตลาดออนไลน์ที่ต้องการข้อมูลที่แม่นยำไปใช้ในการพัฒนาแคมเปญ การทำคอนเทนต์ ไปจนถึงกลยุทธ์การเลือกแพลตฟอร์มต่างๆ ในการทำการตลาด ดังนั้น เรามาดูกันว่า UTM มีประโยชน์อย่างไรบ้างกันดีกว่า
สามารถวัดผลแคมเปญได้อย่างชัดเจน
อย่างที่บอกว่า UTM นั้นเป็นการติดตามดูว่าคนเข้ามาจากทางไหน เข้ามายังไงแล้วมีจุดประสงค์อะไร ซึ่งข้อมูลที่ UTM Tracking ให้เรานั้นเรียกว่าชัดเจนมากกว่าที่ Google Analytics จะสามารถบอกได้ เพราะบางทีอาจมีการเข้าถึงจากช่องทางแปลกๆ ที่ Google ไม่รู้จะบอกยังไงอยู่ และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถดูได้ว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นเข้ามาจากช่องทางไหนกันแน่แล้วทำไมถึงเข้ามา
สามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำแคมเปญ
เมื่อ UTM ได้บอกเราแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเข้ามายังไง และมาจากทางไหน ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในช่องทางที่ไม่เห็นผลอีก นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบดูว่าแคมเปญหรือการนำเสนอรูปแบบใดที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจชื่นชอบมากที่สุด ก็จะได้ไอเดียที่สามารถสร้างการนำเสนอรูปแบบนั้นๆ ให้มีมากขึ้น และลดการทำงานที่เกินจำเป็นลง แบบนี้ต้นทุนในการสร้างแคมเปญก็จะลดลงด้วย
สามารถเลือกช่องทางที่ได้ผลดีมากที่สุดได้
ในปัจจุบันช่องทางการวางลิงก์นำเสนอแคมเปญนั้นมีหลากหลายทีเดียวไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียหรือรูปแบบอีเมล ถึงขั้นที่ว่า Source บางแห่งยังอยู่นอกเหนือจาก Default ของ Google ได้เลย ดังนั้น การใช้ UTM เข้ามาช่วยชี้ช่องทางเพิ่มเติมที่ว่านั้น จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งได้ผลมากที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน
เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป
ข้อมูลที่ UTM parameter บอกได้นั้นสามารถนำใช้วิเคราะห์ถึงที่ที่กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ชมมองเห็นว่าเขาเกิดความสนใจในการคลิกเข้าไปจากที่ไหน (เป็นการกำหนดช่องทางที่จะทำการตลาดในอนาคตได้) จากนั้นเขาคลิกจากจุดใด (เป็นการติดตามรูปแบบของการวางลิงก์ในแคปชันหรือรูปแบบของ Copy Writing ต่างๆ ) แล้วแสดงความชอบด้วยการคลิกจากแคมเปญและการนำเสนอแบบรูปแบบใด (เป็นการดูผลลัพธ์ของภาพรวมคอนเทนต์) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถให้ทีมการตลาดออนไลน์นำมาวิเคราะห์เพื่อลงทุนในช่องทางที่ใช่และลงมือทำการนำเสนอที่ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นในครั้งถัดไป เมื่อทำเรื่อยๆ ก็จะได้ชุดข้อมูลที่เหมาะกับเว็บไซต์มากขึ้นเรื่อยๆ ไงล่ะ ฮิปปป
องค์ประกอบของ UTM มีอะไรบ้าง
URL ที่มีการใส่ UTM ยกตัวอย่างเช่น
https://www.example.com/?utm_source=google&utm_medium=popup+banner&utm_campaign=winter-sale
ดูจากหน้าตาของ URL ที่มีการใส่ UTM มาติดตามแล้วจะเห็นได้ว่ามี 3 ส่วนเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สำคัญในการทำ UTM ด้วยกัน ได้แก่
Source คืออะไร
Source ใน UTM นั้นจะอยู่ส่วนแรกและเป็นส่วนที่บอกถึงที่มาของ Traffic ว่ามาจากช่องทางไหน ไม่ว่าจะเป็นอีเมล เว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย อย่างในตัวอย่างด้านบนก็คือผู้ชมกดเข้ามาจาก Google ซึ่งโดยปกติแล้วส่วนนี้จะใส่เป็นชื่อเว็บไซต์ เช่น source=google เป็นต้น
Medium คืออะไร
Medium ใน UTM จะเป็นส่วนที่บอกว่าผู้ชมของเราเข้ามาด้วยวิธีไหน อย่างในตัวอย่างเป็นการเข้ามาด้วยการคลิกป๊อปอัพหรือแบนเนอร์จากที่ที่ Source บอกก็คือ Google นอกจากนี้ยังสามารถคลิกจากลิงก์ที่ปรากฏในคอนเทนต์ หรืออาจคลิกจากช่องทางโซเชียลมีเดียที่โปรโมตได้ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นต้น
Campaign คืออะไร
Campaign ใน UTM จะเป็นส่วนที่บอกเราว่าแคมเปญที่เราทำอยู่สำหรับลิงก์นี้ชื่ออะไร เหมาะสำหรับการทำหลายแคมเปญพร้อมกัน ตรงนี้ก็สามารถบอกได้ว่าคลิกมาจากแคมเปญไหนกันแน่ โดยส่วนนี้สามารถลงรายละเอียดถึงรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกันในแคมเปญเดียวกันได้ด้วย
สำหรับใครที่อยากจะติด UTM แบบละเอียดตามแบบฉบับ Google ก็ลองเข้าไปอ่านทำความเข้าใจการเขียน Source และ Medium เพิ่มเติมจาก Google โดยตรงเลยที่ https://support.google.com/analytics/answer/11242870?sjid=6243037190217694396-AP
วิธีสร้าง UTM Parameter แบบเข้าใจง่าย ทำตามได้เลย
วิธีการสร้าง UTM Parameter นั้นสามารถทำได้ง่ายมากๆ อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย เพราะเราสามารถสร้างลิงก์ที่มี UTM Parameter ได้ด้วยการใช้ Google Campaign URL Builder ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างลิงก์ โดยในเครื่องมือจะมีช่องให้เรากรอกข้อมูลลงไปตามช่องว่างที่มีดอกจันหรือกรอกทั้งหมดหากมีการแยกแคมเปญหรือการนำเสนอในรูปแบบที่ต่างกัน
AMPROSEO บอกก่อนว่า 2 ช่องด้านล่างแม้จะไม่ได้ใส่ดอกจันซึ่งแปลว่าไม่ต้องใส่ก็ได้แต่หากมีรายละเอียดก็ควรจะใส่ไว้เพื่อเก็บข้อมูลให้ละเอียดมากขึ้น โดย Campaign Term ตัวนี้จะหมายถึงคีย์เวิร์ดที่เราจ่ายเงินหรือ Paid keywords อย่าง Google Ads ส่วน Campaign Content จะเป็นช่องสำหรับกรณีที่เรามีคอนเทนต์หลายตัว ช่องนี้ก็สามารถใส่ว่าเป็นคอนเทนต์อะไรได้นะ ฮิปปป
วิธีการดูผลลัพธ์จากการทำ UTM
หลังจากที่เราได้ติด UTM parameter ไปแล้วนั้นก็สามารถรอคอยผลลัพธ์ของการติดตามได้ที่ Google Analytics ได้เลย โดยส่วนที่ดูจะมี 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- ส่วนที่รายงาน Source/Medium
ส่วนนี้จะบอกถึงแหล่งที่ผู้ชมของเรามองเห็นลิงก์แล้วกดเข้ามาและบอกด้วยว่ากดมาจากอะไร แบนเนอร์โฆษณาหรือลิงก์ที่วางไว้ในคอนเทนต์ เป็นต้น โดยส่วนรายงานผลจะอยู่ที่ เมนู Traffic Acquisition เราสามารถทำการฟิลเตอร์เพิ่มเติมจะมีตัวเลือกว่า Source/Medium อยู่
- ส่วนที่รายงาน Campaign
ส่วนนี้จะบอกถึงลิงก์ที่ผู้ชมของเราแสดงความสนใจคลิกเข้ามา เขาสนใจแคมเปญใด โดยเข้าไปดูได้ที่เมนู Traffic Acquisition แล้วทำการฟิลเตอร์เพิ่มเติมโดยเลือก Campaign จะมีผลลัพธ์ขึ้นมาให้ดูว่าจากช่องทางต่างๆ นั้นมี Traffic มาจากแคมเปญไหนที่ทำลงไปบ้าง
สรุป
ตัววัดผลทางการตลาดออนไลน์อย่าง UTM parameter นั้นเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมให้ข้อมูลด้าน Traffic มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการโปรโมตของแคมเปญการตลาดออนไลน์ได้อย่างมากเลยทีเดียว เพราะส่วนของข้อมูลที่ UTM parameter บอกนั้นมีตั้งแต่ผู้ชมเห็นลิงก์ที่ไหน คลิกจากอะไร แล้วให้ความสนใจกับแคมเปญรูปแบบไหน รวมไปถึงยังบอกด้วยว่าในการคลิกนั้นเป็นเพราะสะดุดตากับคอนเทนต์แบบใด
ดังนั้น ไม่ใช่เพียงนักการตลาดที่จะสามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้มาพัฒนาการโปรโมตแผนการตลาดที่กำลังวางเอาไว้ได้เท่านั้น แต่ส่วนของคนทำคอนเทนต์เองก็สามารถนำมาวิเคราะห์และพัฒนาต่อได้เช่นกัน เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดได้ทั้งเวลาและต้นทุนเลยทีเดียว ที่สำคัญคือสามารถทำได้ไม่ยากและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วยนะ ฮิปปป