Google Analytics

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า Data is a new oil มาก่อน แล้วมันก็เป็นจริงซะด้วย เพราะในยุคนี้ใครข้อมูลเป็นเหมือนสินทรัพย์ อาวุธ และกลยุทธ์สำหรับการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ ใครที่มีข้อมูลดีๆ วิเคราะห์ข้อมูลเก่งๆ จะก้าวนำหน้าคู่แข่งไปได้หลายก้าวเลยทีเดียว

ดังนั้น วันนี้ AMPROSEO เลยจะขอหยิบเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่หลายคนรู้จักกันดี แต่อาจจะใช้ยังไม่คล่อง (เพราะเพิ่งจะอัปเดตเป็นเวอร์ชันใหม่ไม่นาน) อย่าง Google Analytics มาอธิบายถึงประโยชน์รวมถึงวิธีการใช้งานในเบื้องต้นให้ฟังกัน ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูข้อควรรู้ในการใช้ Google Analytics พร้อมๆ กัน AMPROSEO เลยดีกว่านะ

Google Analytics คืออะไร

Google Analytics คืออะไร

ที่มาภาพ: support.bigcommerce.com

Google Analytics คือ เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เว็บไซต์จาก Google โดยได้ข้อมูลมาจากกลุ่มผู้เข้าชมเว็บไซต์หรือเข้าแอปพลิเคชันของคุณผ่าน Cookies ที่เป็นไฟล์สคริปต์ ซึ่ง Google จะนำข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งานเหล่านั้นมาเก็บรวบรวมเป็นสถิติ แล้วแสดงผลแยกเป็นกลุ่มๆ อย่างเข้าใจง่าย ทำให้เจ้าของเว็บไซต์ได้ข้อมูลสำหรับนำไปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงเว็บไซต์ในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

Google Analytics 4 คืออะไร

Google Analytics 4 คืออะไร

ที่มาภาพ: seosetups.com

ในช่วงนี้คงได้ยินคำว่า Google Analytics 4 กันมากขึ้นว่าแต่ Google Analytics 4 คืออะไรกันแน่ ลองไปดูความแตกต่างของ Google Analytics แบบเดิมกับ Google Analytics 4 แบบใหม่กันดีกว่า

Google Analytics 4 คือ เวอร์ชั่นของ Analytics ล่าสุดจาก Google ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ ด้วยการใช้ AI เข้ามาช่วยในการวัดผลได้ในเชิงลึก ไปจนถึงมีฟีเจอร์ใหม่ๆ และการมีหน้าตารีพอร์ตแบบใหม่ๆ ให้ได้นำมาใช้งานกัน รวมถึงมีการเก็บ User Journey ของลูกค้าให้กลายเป็นคนๆ เดียวกันได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ต่างจาก Universal Analytics หรือ Google Analytics เดิมที่จะเก็บข้อมูลแยกช่องทางกันคนละ Property ทำให้แบรนด์ไม่เห็นภาพ Customer Journey ที่ต่อเนื่องได้นั่นเอง

Google Analytics ใช้ทำอะไรได้บ้าง

การใช้งาน Google Analytics นั้นจะช่วยให้คุณวิเคราะห์และปรับปรุงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้ตรงกับความต้องการด้านการใช้งาน และความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจตลาด และมองเห็นเทรนด์บางอย่างได้ ซึ่งถ้าจะให้ AMPROSEO แยกข้อดีของ Google Analytics เป็นข้อๆ ว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง ก็คงจะแยกออกเป็น 6 ข้อหลักๆ ได้ ดังนี้

  • ใช้ติดตามข้อมูลของ User ได้

Google Analytics จะแสดงจำนวนของผู้ที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้ดูอย่างละเอียด ทั้งในด้าน Demographic, พฤติกรรมการใช้งาน, เป้าหมายที่เข้าชมเว็บไซต์ ฯลฯ ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์สามารถทำการกรองข้อมูลดูแยกส่วนหรือ Custom รีพอร์ตดูหลายส่วนพร้อมกันก็ได้

  • ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีบนเว็บไซต์

Google Analytics จะมีหน้าแดชบอร์ดสำหรับรายงานผลการใช้งานเว็บไซต์แบบเรียลไทม์ โดยคุณสามารถดูได้ว่าตอนนี้มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์เท่าไหร่ มาจากประเทศไหน อ่านบทความหน้าไหนอยู่บ้าง ไปจนถึงทำอะไรบนเว็บไซต์ตาม Event ที่กำหนดไว้ โดยดูย้อนได้ว่า ผู้ใช้งานเข้ามาในนาทีที่เท่าไหร่ก่อนหน้านี้ได้ด้วย

  • ใช้ในการวิเคราะห์การทำโฆษณา

Google Analytics ช่วยให้คุณเข้าใจแนวโน้มและผลของแคมเปญโฆษณาที่คุณทำการยิง Google Ads ไป รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่ได้จากแคมเปญนั้นๆ ได้อีกด้วย

  • ใช้ดูว่าคนใช้เว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์อะไรบ้าง

คุณใช้ Google Analytics  ติดตามการใช้งานอุปกรณ์ (Device) ของคนที่ใช้งานเว็บไซต์ได้ ซึ่งช่วยให้คุณเข้าใจว่าเว็บไซต์ของคุณคนนิยมเข้าใช้งานผ่านอะไรบ้าง และมีอุปกรณ์ไหนที่ควรจะปรับปรุงการแสดงผลได้บ้าง เช่น คนใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตน้อยกว่าคอมพิวเตอร์ เพราะเว็บไซต์ของคุณโหลดช้าหากเข้าผ่านมือถือ เป็นต้น

  • ติดตามการซื้อ-ขายสินค้าบนเว็บไซต์

สำหรับธุรกิจ E-Commerce หรือเว็บไซต์ที่มีการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ Google Analytics สามารถติดตามการซื้อขายที่เกิดขึ้นในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของคุณ รวมถึงจำนวนและมูลค่าของรายได้ที่เกิดขึ้นได้ด้วย

  • ใช้ในการวัดผลเป้าหมายที่ตั้งไว้

หากคุณทำการสร้างอีเวนต์หรือตั้งค่า Goal เอาไว้ใน Google Analytics คุณจะสามารถวัดความสำเร็จของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ เช่น คุณตั้งเป้าหมายว่า 1 User ต้องเข้ามาอ่านบทความ 3 หน้าขึ้นไป ถึงจะตรงกับเป้าหมาย  Google Analytics ก็จะ Tracking ให้ว่ามี User ที่ทำพฤติกรรมตรงกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้กี่คน

Google Analytics ใช้ฟรีไหม สมัครยังไง

สำหรับใครที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองสามารถใช้งาน Google Analytics ได้ฟรี โดยทำการสมัครและทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

  1. ไปที่เว็บไซต์ของ Google Analytics โดยคลิกที่ https://analytics.google.com/ เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์
  2. หากคุณยังไม่มีบัญชี Google ให้คลิกที่ “ลงทะเบียน” (Sign up) และกรอกข้อมูลที่จำเป็นในขั้นตอนการสร้างบัญชี Google ใหม่
    Google Analytics ใช้ฟรีไหม สมัครยังไง ไปที่เว็บไซต์ Google Analytics
  3. หลังจากที่คุณมีบัญชี Google คุณสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีของคุณที่ Google Analytics โดยใช้ข้อมูลบัญชี Google ที่คุณสร้างขึ้นในขั้นตอนก่อนหน้านี้ หลักจากนั้นให้คลิกที่ Create an Analytics account เพื่อสร้าง Google Analytics และเมื่อคุณเข้า Google Analytics มาให้เลื่อนไปที่คำว่า Admin
    ไปที่คำว่า Admin
  4. ให้คุณดูที่ Account column ว่าคุณเลือกบัญชีที่ถูกต้อง จากนั้นในคอลัมน์พร็อพเพอร์ตี้ ให้คลิกสร้างพร็อพเพอร์ตี้
    คลิกสร้างพร็อพเพอร์ตี้
  5. กรอกรายละเอียดทั้ง Property name (อาจตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์, ชื่อธุรกิจ) เลือก Time zone เลือกค่าเงิน แล้วกด Next
    กรอกรายละเอียดทั้ง Property name
  6. เลือกประเภทของธุรกิจและขนาดของธุรกิจ แล้วกด Next
    ลือกประเภทของธุรกิจและขนาดของธุรกิจ
  7. เลือก Business Objective ของคุณ (ถ้าไม่รู้จะเลือกอะไรให้เลือก Get baseline reports) แล้วกด Next
    เลือก Business Objective ของคุณ
  8. เลือกแพลตฟอร์มว่าคุณจะเก็บข้อมูลจากอะไร เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน
    เลือกแพลตฟอร์มว่าคุณจะเก็บข้อมูลจากอะไร
  9. สมมติว่าคุณเลือกเก็บข้อมูลเว็บไซต์ หลังจากนั้นจะมีหน้าต่างให้คุณสร้าง Web Stream โดยกรอกข้อมูลเป็น URL เว็บไซต์และชื่อของเว็บไซต์ แล้วกด Create Stream
    ตัวอย่างการเลือกเก็บข้อมูลเว็บไซต์ ให้คุณสร้าง Web Stream
  10. หลังจากนั้นให้คุณนำโค้ด Google Tag ไปติดบนเว็บไซต์ โดยโค้ดจะใช้ติดในเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ CMS อย่าง WordPress (แต่ถ้าคุณใช้ WordPress สามารถใช้ Plug in เช่น Site Kit Plug in ในการติดตั้งแทนได้เลย) หลังจากนี้ก็รอข้อมูลแล้วก็เริ่มใช้งาน Google Analytics ได้เลย
    นำโค้ด Google Tag ไปติดบนเว็บไซต์

วิธีการดูรายงาน Google Analytics 4 เบื้องต้น

สำหรับใครที่สมัคร Google Analytics ใหม่จะได้ใช้งาน Google Analytics 4 กันโดยอัตโนมัติ มาดูกันดีกว่าว่า  Google Analytics เวอร์ชันนี้มีอะไรให้ดูได้บ้าง

Home

วิธีการดูรายงาน Google Analytics 4 เบื้องต้น เวอร์ชันนี้มี Home

หน้าแรกที่เห็นจะเป็นหน้า Home ซึ่งเป็น Dashboard ที่แสดงผลภาพรวมของข้อมูลต่างๆ เช่น

  • จำนวน User
  • จำนวนของ Event Count
  • จำนวน Conversion
  • จำนวน View
  • การเข้าใช้เว็บไซต์แบบ Realime
  • หน้าที่มีคนเข้าชมเรียงลำดับจากยอด View มากไปหาน้อย
  • ช่องทางที่คนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ เช่น Organic Search, Direct ฯลฯ

ส่วนใหญ่จะใช้ดูรีพอร์ตแบบภาพรวมของเว็บไซต์ ซึ่งคุณสามารถ Custom ระยะเวลาที่ต้องการดูได้ด้วยนะ

Report

Report

ส่วนต่อมาจะเป็น Report ซึ่งคุณจะดูข้อมูลของคนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์หรือ Website Performance ได้ละเอียดมากขึ้น โดย Menu นี้จะประกอบด้วย 6 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ

  • Acquistion 

Acquistion

เป็นส่วนของการรายงานผลลัพธ์เกี่ยวกับ User ว่าเข้ามาใช้งานเว็บไซต์จากช่องทางไหน และแต่ละช่องทางมีคนเข้ามาเท่าไหร่ ใช้สำหรับการดูว่า แพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทำการตลาดไปมีช่องทางไหนได้ผลบ้าง

  • Engagement

Engagement

จะเป็นผลลัพธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของ User เช่น การคลิก Event และ Conversion ต่างๆ, เป็นอย่างไร มีคนใช้งานหน้าไหนมากที่สุด, User เข้าใช้งานเว็บไซต์นานแค่ไหน, จำนวนผู้ใช้งานที่เลื่อนดูเนื้อหาในหน้าเพจเป็นยังไงบ้าง ฯลฯ

  • Monetization

Monetization

จะเป็นรายงานผลลัพธ์ที่เว็บไซต์ E-commerce น่าจะได้ใช้บ่อย เพราะเป็นรายงานเกี่ยวกับการซื้อ–ขายสินค้าบนเว็บไซต์ เช่น บอกว่ามีคนซื้อสินค้าเป็นเงินเท่าไหร่ รายได้รวมแล้วได้เท่าไหร่ ฯลฯ

  • Retention

Retention

จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เคยใช้งานเว็บไซต์ หรือลูกค้าเก่า (Returning Visitor) ว่ามีการกลับเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของเราอีกหรือเปล่า ถ้ามีจะมีทั้งหมดเท่าไหร่ ซึ่งจะใช้ดูว่าเว็บไซต์ของเรารักษาฐานลูกค้าเก่าเอาไว้ได้บ้างหรือเปล่านั่นเอง

  • User

User

จะเป็นข้อมูล Demographic ต่างๆ ของคนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ โดยจะบอกว่ามาจากประเทศอะไรบ้าง  เพศอะไร อายุเท่าไหร่ ซึ่งคนทำเว็บไซต์สามารถนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ต่อได้ด้วยว่า ควรทำเนื้อหาบนเว็บไซต์หรือทำการยิงแอดแบบไหนถึงจะตอบโจทย์คนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์เพิ่มเติมได้อีก

  • Tech

Tech

จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ว่าใช้ผ่านอุปกรณ์อะไร เช่น เข้าผ่านมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ใช้ Browser เป็นอะไร เช่น Google Chrome หรือ Firefox ฯลฯ ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลนี้เวลายิงแอด โดยดูว่าคนเข้าใช้งานผ่านอะไร จะได้นำไปตั้งค่าแอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Explorations

Explorations

จะเป็นส่วนที่คุณสามารถทำ Custom Report ขึ้นมาเองได้ โดยจะเลือกสร้างรีพอร์ตจากหน้าเปล่าๆ หรือจะเลือกรูปแบบเพิ่มเติม เช่น Free Form, Funnel Exploration, Path Exploration ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากเห็นหน้าตารีพอร์ตออกมาในรูปแบบไหน

Advertising

Advertising

ส่วนสุดท้ายจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลการยิงแอด เช่น บอกว่าได้รายได้จากช่องทางไหนบ้าง, ได้รายได้เท่าไหร่, เกิด Conversion เท่าไหร่, ใช้ Cost ในการยิงไปเท่าไหร่ ฯลฯ

สรุป

จะเห็นแล้วนะว่า Google Analytics เป็นเครื่องมือสำหรับตามติด Performance ของเว็บไซต์ที่ใช้งานได้ฟรี แถมยังบอกรายละเอียดที่คนทำเว็บไซต์ต้องใช้ในการวิเคราะห์ได้ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว แต่นอกจากเครื่องมือนี้แล้ว สาย SEO อาจจะต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำอันดับเพิ่มเติมด้วยนะ เช่น ใช้ Google Search Console ในการดูอันดับของ Keyword ที่ติดไปแล้ว, ใช้ Arhefs ในการวิเคราะห์เว็บไซต์, ใช้ Ubersuggest ในการทำ Keyword Research ฯลฯ รับรองว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้คุณทำการตลาดบนเว็บไซต์ได้ดีมากขึ้นแน่นอนเลยล่ะ

เขียนโดย: น้อง Hippo
น้อง Hippo
บล็อกนี้ เป็นแหล่งรวมความรู้ SEO และการตลาดออนไลน์ที่ครบครันที่สุด อ่านแล้วนำไปใช้ได้จริง พัฒนาทักษะของคุณให้เติบโต