Content Creator
ในโลกที่อินเทอร์เน็ตและข้อมูลเป็นเหมือนกับอากาศที่ขาดไม่ได้อย่างในปัจจุบันนี้ เราจะได้ยินถึงอาชีพหนึ่งที่มาแรงมากที่สุดเลยก็คือ “Content Creator” เพราะในโลกที่ทุกคนต่างแข่งขันกันด้วยคอนเทนต์นั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม ต่างให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง เพื่อที่จะได้มาซึ่งการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ไปจนถึงขั้นสร้างยอดขาย (Conversion) จากการบอกเล่าข้อมูลต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ที่เหมาะสม พร้อมส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา
ดังนั้น อาชีพ Content Creator จึงกลายเป็นที่ต้องการ แต่ใครที่ต้องการจะเป็น Content Creator ต้องรู้จักกันก่อนว่าอาชีพนี้คืออะไร ทำอะไรบ้าง และในบทความนี้ AMPROSEO จึงนำเอาอาชีพ Content Creator มาแนะนำให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน ว่าเป็นอย่างไร ทำเกี่ยวกับอะไร แล้วต้องมีทักษะอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ฮิปปป
Content Creator คืออะไร
Content Creator คือ นักสร้างคอนเทนต์ หรือคนที่ออกแบบสร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบนสื่อ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บเพจ บนโซเชียลมีเดีย บนป้ายบิลบอร์ด ทุกรูปแบบทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ โดยมีเป้าหมายหลักคือการสื่อสารให้ตรงกับวัตถุประสงค์และเหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะส่งสารไปถึง
ตอนนี้เราสามารถดูตัวอย่างของการเป็น Content Creator ได้จากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ (YouTuber) บล็อกเกอร์ (Bloger) หรือติ๊กตอกเกอร์ (TikToker) แต่นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Content Creator ที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยสามารถจ้างได้ทั้งในรูปแบบฟรีแลนซ์และแบบทำในองค์กร ทำให้แบรนด์ต่างๆ มีคอนเทนต์ที่เหมาะสมจะพรีเซนต์ความเป็นแบรนด์ ผ่านการบอกเล่าของ Content Creator ที่จะมาสวมบทบาทเป็นแบรนด์เหล่านั้นแล้วเล่าเรื่องออกมาให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้รับรู้และเข้าใจในตัวแบรนด์มากยิ่งขึ้นด้วย
Content Creator กับ Creative ต่างกันอย่างไร
ถ้ากล่าวตามตรง AMPROSEO คิดว่ามันไม่ต่างกันในแง่ของด้านทักษะ เพราะส่วนของ Content Creator จะต้องสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความน่าสนใจมีความคิดสร้างสรรค์ใส่เข้าไปดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปเข้ามาให้ความสนใจกับสิ่งที่เรานำเสนอ ดังนั้น หลายครั้งที่เราจะได้เห็นคำนี้ Creative Content Creator หรือ Creative Content ในตำแหน่งคนสร้างสรรค์เนื้อหาซึ่งตรงกับคำว่า Content Creator เช่นกัน
แต่ถ้าพูดถึงในแง่การทำงานขององค์กรที่จะต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันดูแลคำว่า Content Creator กับ Creative อาจจะมีความหมายต่างกันได้ เช่น Creative จะทำหน้าที่เป็นผู้คิด ส่วน Content Creator คือ ผู้สร้างสิ่งที่ Creative คิดออกมาเป็นผลงาน เป็นต้น
ประเภทของ Content Creator
แม้ว่า Content Creator จะมีความหมายเป็นบุคคลที่ทำการออกแบบสร้างสรรค์เนื้อหามานำเสนอ แต่ไม่ได้หมายความว่า Content Creator จะสามารถทำได้ทุกรูปแบบทั้งเขียน ออกแบบ ทำกราฟิกและถ่ายวิดีโอทั้งหมดในคนเดียว ดังนั้น อาชีพ Content Creator นี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้ ดังนี้
Content Creator ในการเขียน
Content Creator ในการเขียนนั้นจะมีความถนัดในการสื่อสารโดยใช้ตัวอักษรเป็นสื่อกลางมากที่สุด มีความสามารถในการใช้ภาษา เรียบเรียง หรือใช้คำถ่ายทอดให้คนอ่านแล้วเกิดความสนใจและมีอารมณ์ร่วมได้ โดยเราจะเห็นพวกเขาได้ในตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- Content Writer เป็นนักเขียนที่เน้นเขียนงานยาว อย่างเช่น บทความ SEO
- Copywriter เป็นนักเขียนที่เน้นเขียนเป็นประโยคสั้นๆ อาจจะมีแค่ไม่กี่คำก็ได้ เช่น คำโปรยสินค้า คำโฆษณาบนโปสเตอร์
Content Creator ในการออกแบบ
Content Creator ในการออกแบบเป็นการใช้ทุกอย่างที่สามารถใช้ได้มานำเสนอเนื้อหาของเราให้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร รูปแบบของตัวอักษร ภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย หรือการสร้างสรรค์ภาพขึ้นใหม่โดยใช้โปรแกรมด้านครีเอทีฟ เราจะเห็นพวกเขาได้ในตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- Graphic Designer เป็นนักออกแบบที่ใช้ภาพและตัวอักษรในการสื่อสาร บางทีก็ออกแบบสัญลักษณ์ให้สามารถดูแล้วเข้าใจได้ทันที งานของพวกเขามักจะออกมาเป็นภาพที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับเทคโนโลยี โดยใช้โปรแกรมในการสร้างสรรค์ขึ้นมา
- Animation Designer เป็นนักออกแบบที่จะสร้างสื่อที่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ใช้โปรแกรมทั้งหมดสร้างสรรค์ขึ้นมา เรียกว่าเป็นการใช้ภาพกราฟิกมาพัฒนาให้เคลื่อนไหวได้และเล่าเรื่องได้ชัดเจนน่าสนใจมากขึ้น อย่างเช่น Motion Graphic ที่เป็นภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว
- Art Director เป็นคนที่ดูภาพรวมของการออกแบบให้งานออกมาตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์และยังเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- Creative Director เป็นคนที่ดูแลงานภาพรวมทั้งหมดหลังจากทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบมาแล้ว ทั้งส่วนของตัวหนังสือที่ต้องสื่อความให้อารมณ์ตรงกับภาพที่ใช้หรือไม่ ส่วนที่เป็นกราฟิกเข้ากับงานหรือไม่ เรียกว่าเป็นคนสุดท้ายที่ทำให้งานออกแบบเสร็จสมบูรณ์
Content Creator ในการถ่ายภาพและตัดต่อ
Content Creator ในการถ่ายภาพและตัดต่อจะมีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารโดยใช้ภาพเล่าเรื่อง ใช้มุมมองที่น่าสนใจมากำหนดจุดที่น่าสนใจได้อย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับเรียบเรียงเรื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยตำแหน่งส่วนนี้สามารถเห็นได้ในตำแหน่งนี้ คือ Video Creator ซึ่งจะนำเอาคลิปวิดีโอหรือฟุตเทจมาประกอบเป็นเรื่องราวทำให้เกิดความน่าสนใจตรงกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ
ทักษะที่ Content Creator ต้องมี
ทักษะที่ Content Creator จะต้องมีเลยย่อมหนีไม่พ้นทักษะตามสายงานหรือ Hard Skills และทักษะแฝงหรือ Soft Skill ที่จะคอยช่วยเหลือให้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถพัฒนาให้ดีมากขึ้นได้ โดยจะมีทักษะต่างๆ ดังนี้
Hard Skills
- Storytelling Skill เป็นทักษะการเล่าเรื่องให้มีความสนุกน่าติดตามตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะนำเสนอ
- Research Skill เป็นทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้คอนเทนต์ที่ทำมีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้องและยังน่าสนใจมากขึ้นได้
- Social Media Skill เป็นทักษะในการเข้าใจแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียเพื่อให้สามารถดึงประสิทธิภาพในการเป็นสื่อกลางนำเสนอเรื่องราวออกมาให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด
- Search Engine Optimization Skill หรือทักษะเกี่ยวกับ SEO คือ การทำให้คอนเทนต์ที่นำเสนอนั้นสามารถค้นหาเจอบน Search Engine อย่าง Google ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบทความ คลิปวิดีโอ หรือรูปภาพก็ตาม
- Programs and Tools Skill เป็นทักษะของการใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือที่จำเป็นตามความเชี่ยวชาญของสายงานต่างๆ เช่น Video Creator ก็ต้องใช้โปรแกรมตัดต่อได้ดี เป็นต้น
Soft Skills
- Creativity Skill ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ทดลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะการนำเสนอมักต้องการสิ่งแปลกใหม่มาดึงดูดความสนใจตลอดเวลา
- Organizing Skill ทักษะด้านการจัดการ นับเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเรียบเรียงทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และลำดับเรื่องราวในการนำเสนอได้ ทำให้ทุกอย่างง่ายมากขึ้น
- Interpersonal Skill ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล เพราะการเป็น Content Creator คือ การต้องสื่อสาร ต้องสอบถาม ต้องทำให้ตัวเองได้รู้ลึกมากขึ้นเพื่อนำเสนอให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- Detail-Oriented Skill ทักษะในการใส่ใจรายละเอียด เพราะบางครั้งจุดเล็กน้อยที่ไม่เด่นชัดอาจเป็นจุดที่ไม่ควรมองข้ามในการเลือกมานำเสนอหรือใช้ทักษะนี้เพื่อตรวจสอบเนื้อหางานทั้งหมดไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่จะสร้างความเสียหายได้
อาชีพ Content Creator ต้องทำอะไรบ้าง
AMPROSEO คิดว่าใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกสนใจ Content Creator อยู่ก็มาลองดูกันว่าหากต้องการเป็น Content Creator ต้องทำอะไรบ้าง
ติดตามข่าวสารและความสนใจของสังคม
การเป็น Content Creator จะต้องรู้ว่าสังคมกำลังให้ความสนใจกับอะไรและกลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการนำเสนอนั้นให้ความสนใจกับเรื่องอะไรในแง่มุมไหนเพื่อให้สามารถคิดเนื้อหาได้ตรงกับความสนใจของคนที่เราอยากให้อ่าน หรือสามารถนำเสนอได้มีประโยชน์เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายได้
เรียนรู้เครื่องมือและช่องทางของการนำเสนอ
ไม่ว่าจะเป็น Content Creator ด้านใดก็ตามต่างก็มีเครื่องมือเฉพาะที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกใช้ให้คล่อง รวมถึงการเรียนรู้ช่องทางในการนำเสนอว่าแต่ละช่องทางมีจุดเด่นอยู่ตรงไหน ควรนำเสนอด้วยสื่อแบบใดหรือควรนำเสนอด้วยเวลาใด ต้องนำเสนอเป็นรูปแบบอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน
ลองผลิตชิ้นงานอย่างมีเป้าหมาย
หากเรียนรู้ทั้งหมดแล้ว ก็มาลองสร้างผลงานกันเลยนะ ฮิปปป
ด้วยความก้าวหน้าของโลกดิจิทัลที่ทำให้ทุกคนสามารถสร้างช่องทางการนำเสนอของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นทาง Facebook, Instargram, Youtube, Blogger หรือ Tiktok ย่อมมีความเหมาะสมที่ต่างกันออกไป ลองผลิตชิ้นงานแล้วนำเสนอเข้าไปเลยว่าจะเป็นอย่างไรได้เลย!
ตรวจสอบชิ้นงานเพื่อพัฒนาต่อยอด
หลังจากการเปิดช่องนำเสนอของตัวเอง อย่าลืมกลับมาตรวจสอบดูว่าผลตอบรับที่ได้เป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ มักจะมีผลการเข้าชมอย่างละเอียดว่าผู้รับชมมีความสนใจอย่างไร หรือหากต้องการดูอย่างละเอียดสามารถใช้เครื่องมือเสริมเข้ามาช่วย อย่างเช่น ส่วนการทำบทความ สามารถใช้เครื่องมือด้าน SEO เข้ามาปรับใช้ให้มีทิศทางในการแก้ไขมากขึ้นได้และทำให้อันดับในการค้นหาที่จะทำให้คนมองเห็นเพิ่มขึ้นได้ด้วย
คำถามที่พบบ่อย
Content Creator เงินเดือนเท่าไหร่
สำหรับเงินเดือนของ Content Creator ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายคนอยากรู้ว่าทำอาชีพนี้จะได้เงินเดือนเท่าไหร่นั้น บอกได้ว่ามีความแตกต่างกันไปตามระดับความสามารถ หน้าที่ความรับผิดชอบและประสบการณ์ในการทำงาน โดยเริ่มต้นที่ 15,000 บาทไปจนถึง 50,000 บาทได้เลย
อยากเป็น Content Creator ต้องจบอะไร เรียนสาขาไหน
สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเป็น Content Creator นั้นสามารถเข้าศึกษาในสาขาสื่อสารมวลชนได้เลย โดยสาขานี้จะสอนเกี่ยวกับการนำเสนอ การเล่าเรื่อง เรียกว่าทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการเป็น Content Creator ถึงอย่างนั้นโลกของ Content Creator นั้นมีการอัปเดตที่ค่อนข้างเร็ว การเรียนที่มหาวิทยาลัยอาจสามารถสร้างพื้นฐานให้เรียนรู้ได้เร็วแต่ก็ยังคงต้องหมั่นตรวจเช็กความเปลี่ยนแปลงในการนำเสนออยู่ทุกเมื่อด้วยเช่นกัน
ใครที่ต้องการเป็น Content Creator แต่ไม่ได้เรียนจบทางสายสื่อสารมวลชนก็ไม่จำเป็นต้องน้อยใจไป เพราะการเป็น Content Creator สามารถเริ่มต้นเรียนรู้และทดลองทำได้เสมอ
สรุป
การเป็น Content Creator หรือผู้สร้างสรรค์เนื้อหาให้สามารถเรียกความสนใจให้ผู้คนอยากรู้อยากติดตามนั้นเป็นงานที่มีความท้าทายพอสมควร เพราะ Content Creator จะต้องรักการเรียนรู้และมีการฝึกใช้ทักษะอยู่เสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความท้าทายเหล่านี้ก็คือความสนุกของงานการเป็น Content Creator นั่นเอง